Scroll to top
© 2022, MAKEITPOP Co., Ltd.
Share
Architect

บ้านกล่องของขวัญ

Project : บ้านกล่องของขวัญ
Location : ปราจีนบุรี, ประเทศไทย

บ้านกล่องของขวัญ

 

บ้านหลังนี้ตั้งอยู่ จ.ปราจีนบุรี ซึ่งครั้งแรกที่เราได้ไปดูไซท์นั้น เราสัมผัสได้ถึงความร้อนระดับตับแตก แสงแดดแผดเผาแบบตากผ้าไหม้ ขนาดมีลมพัดผ่านก็ร้อนเหมือนลมไดร์เป่าผม ก่อนที่จะได้รับบรีฟใดๆจากเจ้าของบ้าน เราตั้งธงไว้ในใจก่อนเลยว่า “จะต้องจัดการกับความร้อนนี้ให้ได้” และเนื่องจากที่ดินอยู่ติดริมถนน จำเป็นต้องมีการจัดการมุมมองจากภายนอก มีแผงบังตาไม่ให้มองเห็นในบ้านทะลุปรุโปร่งมากเกินไป คอนเซปท์ของการใช้ Double Skin จึงเป็นสิ่งที่น่าจะตอบโจทย์

โดยบ้านหลังนี้ได้ใช้การออกแบบ Double Skin รอบบ้าน เช่น ด้านหน้าบ้านซึ่งเป็นทิศตะวันตกออกแบบเป็นผนังผืนใหญ่บังแดดได้ดีตลอดวันและบังตาจากห้องนอน ฝั่งทิศตะวันออกก็มีผนังตกแต่งด้วยบล๊อกคอนกรีตเพื่อกรองแสงแดดส่องเข้ามายังในบ้าน ด้วยหลักการนี้ เมื่อวัดอุณหภูมิในบ้านเมื่อเทียบกับนอกบ้านจึงต่างกันมากกว่า 5 องศาเซลเซียสในวันที่อากาศร้อนจัด

เจ้าของบ้าน อยู่กันเป็นครอบครัวพ่อแม่ ลูก 2 คน โดยคุณพ่อชอบทำงานช่าง หน้าบ้านจึงจัดเป็น Workshop ย่อมๆ มีโถงเพื่อรองรับการขนย้ายวัสดุอุปกรณ์งานช่าง หรือตั้งโต๊ะตัดไม้ ติดกันเป็นห้องเก็บอุปกรณ์ ในขณะที่คุณแม่ชอบทำขนม โดยมีเด็กๆเป็นผู้ช่วย ครัวและพื้นที่ workshop จึงวางให้มองเห็นกันได้เสมอโดยมีสวนเล็กๆคั่นตรงกลางเพื่อให้ทุกคนในบ้านยังมองเห็นกันตลอดแม้จะทำกิจกรรมแตกต่างกัน

ห้องนั่งเล่นและห้องทานอาหาร เป็น Open space เชื่อมต่อกันไปยังสวนหลังบ้าน เพิ่มความโปร่งด้วย Double volume โถงสูง ที่ออกแบบให้มีผนังตกแต่ง กรองแสงแดดก่อนทะลุเข้าสู่กระจก และจัดวางช่องเปิดให้ลมสามารถพัดผ่านทะลุจากสวนหลังบ้านไปยังหน้าบ้านได้ ซึ่งลมจากภายนอกที่มาจากถนนคอนกรีตนั้นทั้งร้อนทั้งฝุ่น เมื่อผ่านสวนผ่านบ่อน้ำก็จะถูกกรองฝุ่นลงไปบ้างและอุณหภูมิลดลงบ้าง ห้องนั่งเล่นจึงสามารถนั่งได้ตลอดวันโดยไม่ร้อน แม้จะไม่ได้เปิดแอร์

สุดท้ายแล้ว สิ่งที่ผู้ออกแบบภูมิใจมากที่สุด คือการที่เราได้เห็นเจ้าของบ้าน ใช้ชีวิตอยู่ในบ้านได้อย่างสบาย อากาศร้อนจัดก็เข้ามานั่งพักผ่อนหลบร้อนในบ้านได้ และเราปลื้มใจมากที่สุดเมื่อได้ยินเจ้าของบ้าน ตั้งชื่อบ้านของเค้าเองว่า “กล่องของขวัญ”

 

Double Skin คืออะไร?

คนเราหากโดนแดดร้อนจัดๆก็กางร่ม ใส่หมวก หรือสวมเสื้อผ้า อาคารก็เช่นเดียวกัน แสงแดดมาพร้อมความร้อนที่เข้าสู่ภายในบ้านด้วยการ”นำความร้อน”ของวัสดุผนัง ดังนั้นหากต้องการให้บ้านเย็น การสวมเสื้อผ้าให้บ้าน หรือออกแบบให้มี Double Skin จึงเป็นอีกวิธีที่จัดการความร้อนที่ต้นเหตุ พูดง่ายๆก็คือมีแผงบังแดด จะเป็นระแนงไม้ กันสาด แผงไม้เลื้อย หรือแผงกำแพงก็ได้ตามแต่การออกแบบ มาบังแสงแดดก่อนตกกระทบสู่พื้นผิวอาคาร โดยเฉพาะส่วนที่เป็นกระจก ช่วยให้อุณหภูมิภายในกับภายนอกบ้านแตกต่างกันได้อย่างมาก

หากอธิบายตามหลักวิชาการ นั่นคือการเพิ่มค่า SC (Shading Coefficient) หรือสัมประสิทธิ์การบังเงา  ให้กระจกนั่นเอง ถ้าเราออกแบบกระจกหน้าต่างแผงใหญ่อยู่โล้นๆ รับแดดเต็มๆก็จะทำให้แสงแดดส่องและแผ่รังสีความร้อนเข้าสู่ตัวบ้าน ผู้อาศัยก็ร้อนอยู่ไม่ได้ แสงแสบตา ส่วนใหญ่ก็ไปแก้ปัญหาที่ปลายเหตุด้วยการติดม่านเพื่อบังแดด ซึ่งถ้าจะมีหน้าต่างเพื่อมองวิวภายนอกแต่ก็ต้องติดม่านปิดมิดไปหมดก็ไม่ได้เห็นวิวภายนอก และความร้อนก็ทะลุกระจกเข้ามาภายในห้องแล้วอยู่ดี ซึ่งถ้าความร้อนเข้ามาได้แล้วก็จะทำให้แอร์ต้องทำงานหนัก ดังนั้นหากจะออกแบบให้มีหน้าต่างเพื่อให้บ้านโปร่ง มองเห็นวิวหรือยังมีแสงสว่างได้นั้น แผงบังแดดที่มีประสิทธิภาพจึงเป็นสิ่งสำคัญ ที่จะทำให้ได้ใช้บานกระจกได้โดยไม่ร้อนเกินไป หากออกแบบแผงบังแดดได้ดี ม่านจะเป็นสิ่งที่มีไว้เพื่อบังสายตาให้เกิด Privacy เท่านั้น แอร์ก็จะไม่ต้องทำงานหนัก เป็นการประหยัดค่าไฟฟ้าไปในตัว

Architect and Interior Design
ออกแบบ สถาปัตยกรรม และ ออกแบบตกแต่งภายใน
Tel : +66829145396 (Gong)
Line Id : gongcc36